1. ความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย
วัฒนธรรม
เป็นการกระทำของมนุษย์และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคมีความต่างกันและคล้ายกัน
ดังนี้
วัฒนธรรมไทย มีลักษณะที่สำคัญ ๆ ดังนี้
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย การแต่งกายไทยจะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะกับยุคสมัย
ซึ่งปัจจุบันไทยแต่งกายแบบตะวันตก แต่ได้มีการนำชุดไทยมาปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย
จนได้ชุดแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย เรียกว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” ส่วนชุดประจำชาติของชายไทย เรียกว่า ชุดไทยพระราชทาน
วัฒนธรรมด้านภาษา ภาษาไทยแบ่งออกเป็น
2 ลักษณะ คือ
ภาษากลาง หรือภาษาราชการ
ภาษาถิ่น เป็นการพูดของคนแต่ละท้องถิ่น
แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
– ภาษาถิ่นภาคเหนือ
(ภาษาล้านนา) พูดกันเฉพาะคนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือ
– ภาษาถิ่นภาคกลาง
(ภาษาถิ่นกลาง) พูดกันเฉพาะคนที่อาศัยในภาคกลาง
– ภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(ภาษาอีสาน) พูดกันเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ภาษาถิ่นภาคใต้ (ภาษาปักษ์ใต้) พูดกันเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคใต้
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ แยกเป็นด้านต่าง
ๆ ได้ดังนี้
– ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา จะแฝงอยู่ในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักสิทธิ์
– การนับถือบรรพบุรุษ
– ความเชื่อเกี่ยวกับการเกษตร
– ความเชื่อเรื่องโลก จักรวาล และกำเนิดคนและสัตว์
– ความเชื่อเรื่องโชคลาง
– การนับถือพระพุทธศาสนา และ ยังนับถือศาสนาอื่น ๆ
โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ได้นำมาผสมกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารไทยมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์
ส่วนใหญ่มีรสจัด ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ แบ่งเป็น 4 ภูมิภาค ดังนี้
– ภาคเหนือ
มักทานอาหารรสชาติกลาง ๆ รสเค็มนำเล็กน้อย ไม่ทานรสเปรี้ยวและหวาน โดยทานข้าวเหนียวคู่กับน้ำพริก
และมีแกงหลายชนิด
– ภาคกลาง
มักทานอาหารรสกลมกล่อม หวานนำเล็กน้อย โดยทานข้าวสวยคู่กับอาหารต่าง ๆ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มักทานอาหารรสจัด โดยทานข้าวเหนียวคู่กับอาหารต่าง ๆ
– ภาคใต้
มักทานอาหารรสเผ็ด โดยทานข้าวสวยคู่กับอาหารต่าง ๆ และผักสดพื้นเมือง
วัฒนธรรมญี่ปุ่น
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย ชุดประจำชาติของชาวญี่ปุ่น
คือ “กิโมโน” แต่ในปัจจุบันจะใส่ชุดกิโมโนในงานพิธี ซึ่งเหมือนกับประเทศไทยที่มักแต่งกายตามสมัยนิยมแบบตะวันตก
แต่ใส่ชุดประจำชาติในงานสำคัญเท่านั้น
วัฒนธรรมด้านภาษา ภาษาญี่ปุ่นรับอิทธิพลมาจากภาษาจีน ซึ่งภาษาญี่ปุ่นมีสำเนียงท้องถิ่นเหมือนภาษาไทยแต่ต่างจากภาษาไทยตรงที่ภาษาญี่ปุ่นมักจะละคำ โดยละประธานหรือกรรมของประโยคที่รู้อยู่แล้ว และใช้ประโยคสั้น โดยเฉพาะการพูด แต่คล้ายกับภาษาไทยที่มีสรรพนาม ซึ่งคำสรรพนามในภาษาญี่ปุ่นมีลักษณะคล้ายคำนาม ขยายคำนามได้ ต่างจากภาษาในกลุ่มอิโด–ยูโรเปียนที่ทำไม่ได้ และภาษาญี่ปุ่นยังใช้คำสุภาพเหมือนกับภาษาไทย ต่างกันที่ชาวญี่ปุ่นจะใช้คำสุภาพกับคนที่พึ่งรู้จัก แต่เมื่อสนิทสนมกันแล้วจะไม่ใช้คำสุภาพ
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ มีอิทธิพลมาจากศาสนาชินโต
และนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ด้วย สรุปได้ดังนี้
– ศาสนาชินโต เป็นศาสนาหลักของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าและเทวดา
ให้ความสำคัญกับการอาบน้ำและทำความสะอาดร่างกาย เพราะศาสนาชินโตสอนในเรื่องความบริสุทธิ์
ชาวญี่ปุ่นจะมาที่ศาลเจ้าเพื่อแสดงความเคารพวิญญาณ และสวดมนต์เพื่อให้มีโชคดี
– พระพุทธศาสนา แยกเป็นหลายนิกาย ได้แก่ นิกายดินแดนบริสุทธิ์
(Pure Land) และนิกายเซ็น (Zen) และได้เกิดนิกายนิชิเร็น
(Nichiren) ตามมา พระพุทธศาสนานิกายดินแดนบริสุทธิ์เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
ส่วนนิกายเซ็นเป็นที่รู้จักมากที่สุดของชาวตะวันตก
การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก
มีการนับถือเทพยดาเหมือนกัน ต่างกันตรงที่คนญี่ปุ่นนับถือศาสนาชินโตควบคู่ด้วย และนับถือนิกายต่างจากคนไทย
จึงมีวิธีปฏิบัติต่างกัน
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นมีการตกแต่งอาหารให้สวยงามเหมือนกัน
แต่ต่างกันที่ญี่ปุ่นจะเน้นการจัดวาง แต่ไทยเน้นการแกะสลัก นอกจากนี้คนญี่ปุ่นนิยมใช้ตะเกียบทานอาหาร
ส่วนชาวไทยนิยมใช้ช้อนและส้อม
วัฒนธรรมเกาหลี
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย เครื่องแต่งกายประจำชาติ
คือ “ฮันบก” โดยปัจจุบันจะสวมใส่ชุดประจำชาติในงานสำคัญ และแต่งกายตามสมัยนิยม
เหมือนวัฒนธรรมการแต่งกายของไทย แต่ต่างจากไทยตรงที่มีสีสันที่ฉูดฉาด และกำหนดสีของชุดตามวัยและสถานะของผู้สวมใส่
วัฒนธรรมด้านภาษา
ภาษาเกาหลีมีสำเนียงท้องถิ่นเหมือนกับภาษาไทย
แต่ต่างกัน เช่น ภาษาไทยมีสระเสียงสั้นและเสียงยาวแยกกัน แต่ภาษาเกาหลีมีตัวเดียว อยู่ที่การเน้นเสียง
แม้จะเขียนเหมือนกันแต่ก็อ่านต่างกัน และประโยคในภาษาเกาหลีจะวางโดยเรียงลำดับต่างจากภาษาไทย
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ เกาหลีมีทั้งผู้ที่นับถือพุทธศาสนา
คริสต์ศาสนา ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิทรงเจ้า บูชาผี รวมทั้งศาสนาย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานหลักศาสนาดั้งเดิมกับแนวคิดใหม่
และเคารพผู้อาวุโส เคารพบูชาบรรพบุรุษพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันคณะสงฆ์ในเกาหลีใต้
เป็นคณะสงฆ์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยวัฒนธรรมความเชื่อของเกาหลีนับถือพระพุทธศาสนา
และเคารพผู้อาวุโสคล้ายกับวัฒนธรรมไทย แต่ต่างกันที่ อิทธิพลขงจื๊อที่มีอยู่มากในวัฒนธรรมความเชื่อของเกาหลีแต่ไม่ปรากฏมากนักในวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมด้านอาหาร คนเกาหลีทานข้าวเป็นอาหารหลักควบคู่กับอาหารต่าง
ๆ เหมือนคนไทย ซึ่งอาหารเกาหลีเป็นอาหารที่มีหลากหลายรสชาติ และมีรสชาติอร่อย ซึ่งอาหารเกาหลีมีประโยชน์ต่อร่างกาย
และเชื่อว่าอาหารคือยาเหมือนกับไทย ต่างกันที่ อาหารเกาหลีจะเน้นในเรื่องของผักดองที่เรียกว่า
กิมจิ แต่อาหารไทยจะรับประทานผักสด
วัฒนธรรมจีน
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย เครื่องแต่งกายของสตรี คือ กี่เพ้า ชาวจีนแต่ละพื้นที่แต่งกายต่างกัน วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวจีนคล้ายไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
และผสมผสานกับชุดแต่งกายเดิม แต่ต่างกันที่ ชุดแต่งกายชาวจีนเป็นชุดคลุมยาวทั้งตัว
แต่ชุดไทยแยกเป็นเสื้อและผ้าซิ่น
วัฒนธรรมด้านภาษา มีภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลัก
โดยวัฒนธรรมด้านภาษาของจีนมีการใช้ภาษาถิ่นเหมือนกับไทย ต่างกันที่ตัวอักษรภาษาจีนมีความหมายอยู่ในตัวอักษร
จึงไม่มีรูปสระหรือวรรณยุกต์ แต่ภาษาไทยต้องประสมคำระหว่างตัวอักษร สระ และวรรณยุกต์
จึงเกิดคำที่มีความหมาย
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของลัทธิ
2 ลัทธิ ได้แก่ ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อ และพระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปในหมู่ชาวจีนอย่างมั่นคง
ชาวจีนเคารพและบูชาบรรพบุรุษ มีฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการทำนาย โดยวัฒนธรรมด้านความเชื่อจีนคล้ายกับไทยหลายประการ
เช่น นับถือพระพุทธศาสนา เคารพนับถือบูชาบรรพบุรุษ กตัญญูกตเวที เชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เรื่องโชคลาง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ต่างจากไทยตรงที่นับถือลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อ
ซึ่งคนไทยยังนับถือไม่มากนัก
วัฒนธรรมด้านอาหาร คนจีนทานข้าวเป็นอาหารหลักควบคู่กับอาหารอื่น
อาหารจีนมีประโยชน์ต่อร่างกาย และในแต่ละภูมิภาคของจีนมีอาหารพื้นเมืองต่างกันเหมือนอาหารไทย
อาหารในภูมิภาคต่างๆ ของจีน ได้แก่
– อาหารซันตง เป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคเหนือในแถบเป่ยจิงกับซันตง
ปรุงด้วยวิธีการเคี่ยวน้ำซุป รสชาติจะนุ่มนวล ไม่เผ็ด เค็ม หวาน หรือขมจัด
– อาหารเจียงซู เป็นอาหารในแถบซางไห่ เจียงซู กับเจ๋อเจียงทางภาคตะวันออก
ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง หรือตุ๋น รสชาติจะมัน เลี่ยน และเค็มเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล
– อาหารกวางตุ้ง เป็นอาหารของมณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้
ปรุงด้วยวิธีการต้ม ย่าง เคี่ยว และอบ รสชาติจะจืดและหวานเล็กน้อย และเน้นการตกแต่งอาหาร
– อาหารเสฉวน เป็นอาหารทางภาคตะวันตกในแถบเมืองเฉินตู
ปรุงด้วยวิธีการนึ่งและทอด และใส่เครื่องเทศที่มีรสเผ็ดในอาหาร รสชาติมีรสจัดและเค็ม
วัฒนธรรมอินเดีย
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย ชาวอินเดียนิยมแต่งกายโดยใช้ผ้านุ่งห่มเพื่อเป็นเครื่องปกปิดร่างกาย
ชุดแต่งกายประจำชาติ คือ ส่าหรี โดยสมัยโบราณชาวอินเดียแต่งกายคล้ายคนไทยสมัยเชียงแสน
ต่อมาชาวอินเดียแต่งกายหลายชั้น และผู้ชายโพกผ้าที่ศีรษะ ต่างกับการแต่งกายไทยที่นิยมนุ่งผ้าซิ่น
และสวมเสื้ออย่างเดียวไม่มีคลุม และผู้ชายไทยไม่โพกผ้า
วัฒนธรรมด้านภาษา ในประเทศอินเดียมีภาษาที่ใช้เป็นทางการจำนวน
18 ภาษา ซึ่งภาษาที่ใช้กันมาก คือ ภาษาฮินดี ภาษาของอินเดียคล้ายกับภาษาไทยคือ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
เมื่อทั้ง 2 ศาสนานี้เผยแผ่มาสู่ไทย ทำให้ไทยรับภาษาทั้งสองเข้ามา นอกจากนี้การรับวัฒนธรรมอินเดีย
และวิทยาการต่าง ๆ ทำให้รับภาษามาปรับใช้เป็นภาษาตนเอง ความต่างของวัฒนธรรมด้านภาษา
คือ คนไทยนิยมใช้ภาษาไทยสื่อสารกัน ต่างจากอินเดียที่ใช้ภาษามากมายในการสื่อสาร
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ ประเทศอินเดียเป็นต้นกำเนิดของศาสนาสำคัญหลายศาสนา
โดยชาวอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์–ฮินดู
รองลงมาเป็นศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่น และเชื่อเรื่องระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์–ฮินดู
วัฒนธรรมด้านอาหาร เครื่องเทศเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารอินเดีย
ซึ่งเหมือนกับไทยตรงที่ทานข้าวร่วมกับอาหารอื่น และนิยมทานโรตี ไม่ทานเนื้อหมู เครื่องเทศที่เป็นส่วนประกอบหลักนั้นจะเป็นเครื่องเทศแห้งต่างจากเครื่องเทศของไทยที่ใช้เครื่องเทศสด
และภาคใต้ของอินเดียใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหารและมีรสจัดเหมือนอาหารไทย แต่ต่างจากไทยที่อาหารอินเดียใส่ขมิ้น
หรือผงกะหรี่ หรือหญ้าฝรั่น แต่อาหารไทยไม่นิยมใส่ส่วนผสมเหล่านี้
วัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย ชาวซาอุดีอาระเบียแต่งกายด้วยผ้าที่หลวมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
และ ปกปิดมิดชิด ต่างกับชุดแต่งกายไทยจะไม่ปกปิดมิดชิดทั่วทั้งตัว นอกจากนี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามจึงไม่นิยมคลุมผ้าที่หน้า
วัฒนธรรมด้านภาษา ภาษาราชการ
คือภาษาอาหรับ และนิยมใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร ภาษาอาหรับจะอ่านจากขวาไปซ้าย
แต่ถ้าเป็นตัวเลขจะอ่านจากซ้ายไปขวา ถ้าตัวเลขเป็นกลุ่มจะอ่านจากขวาไปซ้ายเหมือนตัวหนังสือ
ซึ่งต่างกับไทยที่ชาวไทยนิยมใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร และตัวอักษรไทยกับตัวเลขไทยอ่านจากซ้ายไปขวาเหมือนกัน
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ ชาวซาอุดีอาระเบียนับถือศาสนาอิสลาม
โดยแบ่งเป็นนิกายซุนนี และ นิกายชีอะฮ์ จึงมีความเชื่อไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากไทยและซาอุดีอาระเบียนับถือศาสนาต่างกันเลยมีวัฒนธรรมความเชื่อต่างกัน
แต่ก็มีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน เช่น การบริจาคทาน
วัฒนธรรมด้านอาหาร ชาวซาอุดีอาระเบียทานอาหารมุสลิมตามหลักศาสนาอิสลามได้แก่
ขนมปัง ข้าว เนื้อสัตว์นานาชนิด ยกเว้นเนื้อหมู เลือดสัตว์ อาหารจากพืชมีพิษ และอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
โดยวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบียมีข้อห้ามในเรื่องอาหารมาก ต่างจากไทยที่ไม่มีข้อห้ามมากนัก
แต่คล้ายกัน เช่น การนิยมบริโภคข้าว การปรุงแต่งอาหารด้วยเครื่องเทศ
2. วัฒนธรรมนำสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
โดยมีปัจจัยในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ได้แก่
– วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับภาษา
เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยสื่อสารให้คนต่างสังคมเกิดความร่วมมือและการช่วยเหลือระหว่างกัน
– วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อ
ต่างมุ่งมั่นปฏิบัติในสิ่งที่เชื่อถือเหมือนกันทำให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน และไม่เกิดความขัดแย้ง
– วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี
ความเชื่อและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายกัน ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้ง และการเรียนรู้วัฒนธรรมในการทักทายของแต่ละชาติยังเป็นการผูกมิตรไมตรีเมื่อพบกัน
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น