วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ม 2 สถาบันทางสังคม

 สถาบันทางสังคม


สถาบันทางสังคม
สถาบันทางสังคม หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพื่อสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ และเพื่อการคงอยู่ของสังคมโดยส่วนรวม แบบแผนพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคมที่มีความชัดเจนแน่นอน และเป็นไปตามวัฒนธรรมของสังคม สถาบันทางสังคมมีความสำคัญในฐานะเป็นกลุ่มบรรทัดฐาน คือ เกณฑ์ของความประพฤติ แบบแผนของพฤติกรรมที่กลุ่มคาดหวังให้สมาชิกปฏิบัติตาม ส่งผลให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ
บทบาทสำคัญของสถาบันทางสังคม ได้แก่ การกำหนดแบบอย่างการกระทำของสมาชิกให้เป็นระเบียบ การตอบสนองความต้องการของคนและสังคม การรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จนกลายเป็นมรดกของสังคม และการจัดการให้สังคมมีระเบียบเพื่อให้สมาชิกได้รับความสะดวกสบาย

สถาบันทางสังคมที่สำคัญ
1. สถาบันครอบครัว มีบทบาทสำคัญ คือ
     1. การสร้างสมาชิกใหม่ทดแทนสมาชิกเก่า
     2. การเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
     3. การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังระเบียบของสังคมแก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกรู้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบอื่น ๆ ได้
     4. การให้ความรักและความอบอุ่นแก่สมาชิก สมาชิกจะมีความผูกพันกันมากกว่าสถาบันอื่น ๆ
     5. การกำหนดสถานภาพของบุคคล เช่น เพศ เชื้อชาติ ลำดับสมาชิก และสถานภาพทางสังคม
     6. การควบคุมความสัมพันธ์ทางเพศ ทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปตามบรรทัดฐานทางสังคม
2. สถาบันการศึกษา มีบทบาทที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรม และทักษะอันจำเป็นในการดำรงชีวิตของสมาชิก การสร้างบุคลิกภาพทางสังคมแก่สมาชิก การผลิตกำลังแรงงานทางเศรษฐกิจ การกำหนดสถานภาพและชนชั้นทางสังคม และเกิดการรวมกลุ่มกัน ทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน


สถาบันการศึกษามีบทบาทถ่ายทอดความรู้


3. สถาบันศาสนา บทบาทสำคัญของสถาบันศาสนา คือ การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม การสร้างเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สังคม การควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม และสนองความต้องการทางจิตใจแก่สมาชิก


สัญลักษณ์ของสถาบันศาสนา


4. สถาบันเศรษฐกิจ มีบาทหน้าที่ที่สำคัญ คือ การผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการแก่สมาชิกในสังคม การกระจายสินค้าและบริการ และการบริโภค


กลุ่มบุคคลในสถาบันทางเศรษฐกิจ


5. สถาบันการเมืองการปกครอง มีบทบาทสำคัญ คือ การสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้สังคมสงบสุข การดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ บริการสาธารณะ และสวัสดิการต่าง ๆ การแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และปกป้องคุ้มครองสังคมจากภัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก


รัฐสภาเป็นองค์กรที่อยู่ในสถาบันการเมืองการปกครอง


6. สถาบันสื่อสารมวลชน มีบทบาทสำคัญ คือ การสอดส่องดูแล ติดตามเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคม การเป็นเวทีสาธารณะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ การให้ความรู้แก่ประชาชน การให้ความบันเทิง และการถ่ายทอดวัฒนธรรม
7. สถาบันนันทนาการ มีบทบาทสำคัญ คือ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดแก่สมาชิกของสังคม และช่วยให้สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความสัมพันธ์ของสถาบันทางสังคม
สถาบันทางสังคมแต่ละสถาบันมีบทบาทสัมพันธ์กัน และช่วยส่งเสริมให้สมาชิกปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยได้ดังนี้
1. สถาบันครอบครัว ช่วยสร้างความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงบรรทัดฐานทางประชาธิปไตยให้แก่ เด็ก
2. สถาบันการศึกษา ช่วยถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง


โรงเรียนทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก


3. กลุ่มทางสังคม แบ่งเป็นกลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิ กลุ่มทางสังคมจะช่วยกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับสมาชิกเป็นมาตรฐานเดียวกัน กำหนดให้สมาชิกมีความเท่าเทียมกัน ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วม และได้ร่วมตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมาก
4. รัฐ มีบทบาทในการส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง และช่วยส่งเสริมให้เกิดพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยได้โดย การส่งเสริมให้รัฐบาลมาจากประชาชน การส่งเสริมให้พลเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในทุกขั้นตอนและมีความเสมอภาคกัน การส่งเสริมให้พลเมืองมีความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการกำหนดขอบเขต สิทธิ และเสรีภาพให้ชัดเจน



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เทคนิคการสอนครูเเบงค์

https://vt.tiktok.com/ZS8nJWJkx/